วิสัยทัศน์ นโยบาย แผนบริการจัดการและแผนพัฒนา
- Written by Super User
- Category: เกี่ยวกับเรา
- Hits: 7029
วิสัยทัศน์ นโยบาย แผนบริการจัดการและแผนพัฒนาคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
วิสัยทัศน์
“คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี”
“Creative Textile industry Goes Forward with Technology and Innovation”
ค่านิยมองค์กร
“สร้างสรรค์งานที่มีคุณภาพด้วยความสุข”
SMART
S = Smart มีความรอบรู้
M = Morality มีคุณธรรม
A = Active มีความกระตือรือร้น
R = Responsibility มีความรับผิดชอบ
T = Timework สามารถการทำงานเป็นกลุ่ม
HAPPY
H = Holistic องค์รวม, การบูรณาการ
A = Altruism คิดถึงประโยชน์
P = Proud ความภาคภูมิใจ
P = Professional ความเป็นมืออาชีพ
Y = Why สงสัยใครรู้ เรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
สภาวการณ์คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ
คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหน่วยงานการศึกษาด้านสิ่งทอและแฟชั่นที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเชี่ยวชาญงานเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรมสิ่งทอ เพื่อรองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรให้ผู้เรียนมีศักยภาพในระดับสากลตลอดจนสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเป็นศูนย์กลางการวิจัยและการบริการวิชาการด้านสิ่งทอสู่สังคม
ภายใต้การดำเนินงานที่ผ่านมา 2557-25621 พบว่ามีการดำเนินการตามแผนการออกเป็น 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านการจัดการการศึกษา ด้านวิชาการ-งานวิจัย ด้านวิชาการสู่สังคม และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการการลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และสถาบันแฟชั่น RASARA ณ สาธารณรัฐเกาหลี และโครงการยุทธศาสตร์การบูรณาการการศึกษาด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
จากการดำเนินงานดังกล่าวถึงปัจจุบัน พบว่ามีเหตุปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อันประกอบไปด้วย เรื่องการลดจำนวนลงของผู้เรียน เรื่องการจัดการระบบการศึกษาที่ยังไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน เรื่องการสร้างและเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีจำนวนไม่มากพอและเรื่องการสื่อสารภาพลักษณ์ การวิเทศสัมพันธ์องค์กรในด้านการเป็นผู้นำการศึกษาและการบริการงานด้านวิชาการและแฟชั่นที่ยังไม่ชัดเจน
ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของภารกิจและการดำเนินงานที่ผ่านมา ร่วมกับการทำนายแนวโน้มทิศทางการบริหารและการจัดการที่ส่งผลให้เกิดการสร้างโอกาสในอนาคต พบว่าสามารถจำแนกภารกิจเร่งด่วนออกเป็นสองส่วน คือ ภารกิจการสานต่อเพื่อสร้างผลผลิตให้กลับมาเป็นเป้าหมายของการดำเนินงานในพันธกิจใหม่ ได้แก่ โครงการบูรณาการและการจัดการศึกษาในด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์โดยมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นส่วนช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือและผลผลิตสู่ภาคเศรษฐกิจและสังคมและภารกิจใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและสร้างโอกาสในด้านต่างๆตามขีดความสามารถของคณะฯ ร่วมกับแนวโน้มทิศทางของยุทธศาสตร์ประเทศและมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งจะระบุรายละเอียดไว้ในส่วนการกำหนดแผนยุทธศาสตร์และนโยบายในส่วนต่อไป
พันธกิจ
1.ผลิตบัณฑิตมีความคิดสร้างสรรค์ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีทักษะการปฏิบัติ เชี่ยวชาญงานเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม
2.บูรณาการและถ่ายทอดองค์ความรู้ เชิงนวัตกรรมสร้างสรรค์และเทคโนโลยี ด้านงานวิจัยและการบริการวิชาการแก่สังคม
3.บริการวิชาการเชิงสร้างสรรค์ควบคู่การบูรณาการสู่สังคม
4.พัฒนาการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาลและรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีคุณธรรม จริยธรรม และพึ่งพาตนเองได้
5.ส่งเสริมการทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม ค่านิยมของไทยและการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของบัณฑิต
6.จัดการศึกษาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเชิงสร้างสรรค์ที่มุ้งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยี
นโยบายและการดำเนินการ
1.นโยบายด้านการบริหารงานและการจัดการ
1.1 ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหาร โดยยึดหลักการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดหลักคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี
1.2 จัดทำโครงสร้างการบริหารคณะและพัฒนาระบบการบริหารภายใน ให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยยึดหลักประชาธิปไตยโปร่งใสและตรวจสอบได้
1.3 มีแผนงานบริหารงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาคณะและหลักสูตร ให้มีการสนับสนุนการบริหารงานและการจัดการด้านต่างๆ อย่างเหมาะสมและมีประสิทธภาพ
1.4 จัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรของคณะฯ ให้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพ มีประสิทธิภาพด้านการบริหารและด้านวิชาการ
1.5 จัดทำแผนดำเนินงานให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ในการบริหารและการจัดการ ภายใต้ความร่วมมือและความเข้าใจร่วมกับบุคลากรทุกกลุ่มทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุน กำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต และสร้างการมีส่วนร่วมของบุคลากรในการกำหนดทิศทางการบริหารและการจัดการในทุกภาคส่วน
1.6 พัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของคณาจารย์และบุคลากร ส่งเสริมบุคลากรภายในทุกภาคส่วนให้มีความรัก ความผูกพันกับคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอมีความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อคณะ และเสริมสร้างโอกาสให้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริหารการจัดการและกำกับการดูแลการปฏิบัติงาน
2. นโยบายด้านวิชาการและการจัดการศึกษาสมัยใหม่
2.1 จัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมกับหน่วยงานและองค์เอกชน มุ่งเน้นการบูรณาการหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ทักษะ คุณภาพ และทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมจริยธรรม
2.2 พัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน มุ่งเน้นการสร้างบัณฑิตเป็นนักเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์
2.3 กำกับการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและเป็นไปตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาและสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
2.4 การพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร เพื่อให้เป็นผู้ประกอบการและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอาชีพ
2.5 สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันต่างๆ ทั้งหน่วยงานภายรัฐและเอกชน
2.6 จัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์” เพื่อเป็นศูนย์กำลังการศึกษาด้านสิ่งทอและแฟชั่นสมัยใหม่ มีหลักสูตรระยะสั้นและยาวที่สอดคล้องกับสภาวการณ์และความต้องการของภาคสังคม ให้บริการวิชาการที่ตอบสนองทุกภาคส่วนทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย จัดให้การบริการให้ความรู้ทางการศึกษา การวิจัยและแก้ไขปัญหาทางเทคนิคเฉพาะทาง จัดหน่วยปฏิบัติการทดสอบสิ่งทอ หน่วยปฏิบัติการออกแบบสิ่งทอ หน่วยปฏิบัติการพัฒนาสิ่งทอและการส่งเสริมการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ไปสู่การตอบสนองความต้องการทางการตลาดสมัยใหม่ โดยหลักการพัฒนาบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์เชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบูรณาการร่วมกับศาสตร์ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สร้างเป็นนวัตกรรมด้านสิ่งทอและแฟชั่นเชิงประจักษ์ในทุกด้านอย่างครบวงจร
2.7 จัดหาทรัพยากรสนับสนุนการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
2.8 ส่งเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนให้ผู้เรียน มีความรู้และทักษะที่นำไปใช้ในการปฏิบัติในอาชีพและสามารถเป็นผู้ประกอบการได้
2.9 ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การศึกษาอบรม การประชุมสัมมนาวิชาการทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้คณาจารย์และบุคลากรสายสนับสนุนมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม และความเจริญทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2.10 สนับสนุนส่งเสริมให้คณาจารย์และบุคลากรผลิตและเผยแพร่เอกสารทางวิชาการ ตำราและผลงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนาตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น
3. นโยบายด้านการวิจัย
3.1 มุ่งเน้นการบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ การเพิ่มมูลค่าในงานวิจัยและนำไปใช้ประโยชน์
3.2 สร้างเครือข่ายการบูรณาการงานวิจัยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้คณาจารย์สร้างและพัฒนางานวิจัย นำเสนอผลงาน ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน ในวารสารที่มีชื่อปรากฎในฐานข้อมูล และนำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
3.4 ส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาทำวิจัย โครงงานและนำผลไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนและเผยแพร่สู่สังคม
3.5 สนับสนุนการจัดเวลาปฏิบัติงาน เพื่อทำวิจัยของอาจารย์และบุคลากร
3.6 จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการงานวิจัยใน “ศูนย์นวัตกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์” เพื่อรอบรับงานด้านการวิจัยให้เกิดคุณภาพที่ยั่งยืน
3.7 สนับสนุนให้เกิดกลุ่มวิจัยเฉพาะด้าน หรือกลุ่มวิจัยแบบบูรณาการ จัดฝึกอบรมความรู้และเทคนิควิธีด้านการวิจัยให้แก่อาจารย์ บุคลากร นิสิตและนักศึกษาของคณะในลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวิจัย
4. นโยบายด้านการบริการวิชาการ
4.1 จัดทำแผนงานด้านการบริการวิชาการแก่สังคมที่ตอบสนองความต้องการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม ชุมชน ประเทศชาติ และบูรณาการด้านการบริการวิชาการแก่สังคมกับด้านการเรียนการสอน การวิจัย การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมสู่ภาคชุมชนและสังคมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์
4.2 สนับสนุนให้ทุกสาขาวิชาจัดโครงการบริการวิชาการแก่สังคมเป็นประจำทุกปี เพื่อให้บริการวิชาการช่วยแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของสังคมทั้งภาครัฐ เอกชน และสถานประกอบการ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิชาการที่เกิดประโยชน์ให้แก่วิสาหกิจชุมชนขนาดย่อมและขนาดกลาง กลุ่ม SMEs ผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ชุมชนท้องถิ่นและสังคม
4.3 ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะกับภาครัฐและเอกชน เปิดโอกาสให้บุคลากรมีส่วนร่วมเป็นที่ปรึกษา เป็นกรรมการวิชาการ เป็นวิทยากร กรรมการวิชาชีพ เพื่อให้การบริการวิชาการแก่สังคมในลักษณะอื่นๆ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
4.4 จัดหลักสูตรระยะสั้น ระยะยาวในสาขาวิชาต่างๆ บริการวิชาการ การให้การตอบสนองความต้องการของสังคม โดยศึกษาและสำรวจความต้องการขององค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
4.5 มีระบบติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทุกโครงการ เพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาการให้บริการวิชาการรับใช้สังคมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมภายนอก
4.6 จัดตั้งหน่วยให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ภายใต้ “ศูนย์นวัตกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์”
5. นโยบายด้านกิจกรรมนักศึกษา
5.1 ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาเพื่อปลูกจิตสำนึกในการดำรงตนให้มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นคนดีและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
5.2 จัดแนวทางส่งเสริมการจัดกิจกรรมนักศึกษาที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะและมหาวิทยาลัย มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา
5.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้สโมสรนักศึกษาจัดกิจกรรมในด้านต่างๆ อาทิ กิจกรรมวิชาการ กิจกรรมกีฬา กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมร่วมการบริการวิชาการ กิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์วิชาชีพและอื่นๆ ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคณะและมหาวิทยาลัย เพื่อให้มีคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา
5.4 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางด้านภาษาหรือจัดโครงการพัฒนาทักษะทางด้านภาษา
5.5 จัดสำรวจความต้องการจำเป็นและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการพัฒนาการเรียนรู้
5.6 จัดแนะแนวให้คำปรึกษาโดยผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาในแต่ละสาขา ให้บริการข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาศิษย์เก่าผ่านสื่อทุกประเภท
5.7 จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน ปฏิบัติการสหกิจศึกษาหรือโครงการสร้างเสริมพัฒนาประสบการณ์ทางวิชาชีพแก่นักศึกษาทุกสาขาทุกระดับ
5.8 มีระบบ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงาน ความพึงพอใจในกิจกรรมนักศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกโครงการ เพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการด้านกิจกรรมนักศึกษา
5.9 บริหารการจัดการด้านทุนการศึกษาและทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรทุนให้กับนักศึกษาอย่างเป็นธรรม
5.10 ส่งเสริมให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานและเรียนรู้อาชีพ การบริการวิชาการและงานวิจัย จากหน่วยส่งเสริมการศึกษาภายใต้ “ศูนย์นวัตกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์”
6. นโยบายด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
6.1 จัดทำแผนงานด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนากระบวนการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
6.2 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่นำไปสู่การสร้างสรรค์งานด้านศิลปวัฒนธรรม อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยแบบมีส่วนร่วมของคณาจารย์ บุคลากรทุกฝ่ายและนักศึกษา และมีส่วนร่วมพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมไทยทั้งภายในคณะฯ/มหาวิทยาลัยและภายนอกมหาวิทยาลัย
6.3 บูรณาการด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมกับด้านการเรียนการสอน การวิจัยหรือการบริหารวิชาการแก่สังคม
6.4 มีระบบ ติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทุกโครงการ เพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงาน
6.5 จัดโครงการให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์และการสร้างสรรค์ผลงานสิ่งทอและแฟชั่นเชิงวัฒนธรรมภายใต้ “ศูนย์นวัตกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์”
7. นโยบายด้านการบริหารทรัพยากร
7.1 วิเคราะห์ความต้องการใช้ทรัพยากรของคณะ และจัดทำแผนการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย โดยบริหารจัดการใช้อาคารเรียนและห้องปฏิบัติการ ห้องทดสอบ ห้องบรรยาย ห้องคอมพิวเตอร์และห้องอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
7.2 ปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อม พื้นที่ภายในและภายนอกอาคารคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ ให้ทุกพื้นที่ใช้งานร่วมกันได้อย่างมีประโยชน์สูงสุด
7.3 จัดทำแผนการบริหารทรัพยากร พร้อมทั้งจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอต่อการจัดการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ สร้างเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะทาง ภายใต้การจัดการของ
“ศูนย์นวัตกรรมสิ่งทอและแฟชั่นเชิงสร้างสรรค์”
7.4 จัดทำแผนการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยมอบหมายงานเฉพาะบุคคลที่เป็นธรรมและเป็นรูปแบบชัดเจน
7.5 ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรทุกระดับให้ได้รับการพัฒนาศักยภาพของตนเองตรงกับความรู้ ความถนัดก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากเพิ่มขึ้น และสร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรที่มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ
7.6 ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางวิชาการ มีคุณวุฒิ และมีตำแหน่งวิชาการเพิ่มสูงขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรให้มีศักยภาพมีโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในวิชาชีพตามสายงาน
8. นโยบายด้านการเงินและงบประมาณ
8.1 จัดทำแผนงบประมาณตามยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับมหาวิทยาลัย
8.2 บริหารการจัดการด้านการเงิน โดยจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานของคณะฯ และสาขาวิชาอย่างเหมาะสมตามหลักธรรมาธิบาล
8.3 บริหารจัดการระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องและเป็นธรรม จัดให้มีการรายงานด้านการเงินตามปีงบประมาณ และติดตาม ตรวจสอบผลการใช้เงินให้เป็นไปตามเป้าหมายชัดเจน
9. นโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง
9.1 จัดทำแผนการบริหารความเสี่ยงตามแผนงานของมหาวิทยาลัยที่วางไว้
9.2 ดำเนินการจัดกิจกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้ความรู้ ความเข้าใจ และระดมความคิดเห็นร่วมกัน
9.3 ดำเนินการติดตาม วัดผล ประเมินผลการดำเนินงานในการบริหารความเสี่ยง เพื่อการปรับปรุงพัฒนา
10. นโยบายการประกันคุณภาพการศึกษา
10.1 พัฒนาระบบกลไกการประเมินคุณภาพภายในเหมาะสมกับระดับการพัฒนาคณะฯ และสอดคล้องกับการดำเนินการของมหาวิทยาลัย
10.2 มีการควบคุมคุณภาพ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินคุณภาพ
10.3 จัดระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศที่สนับสนุนการประกันคุณภาพการศึกษา
10.4 ส่งเสริมให้ความรู้ด้านการประกันคุณภาพการศึกษาให้กับคณาจารย์ บุคลากรทุกคนและนักศึกษา
10.5 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมในทุกด้านของคณาจารย์ บุคลากรทุกคนและนักศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษา
10.6 ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายประกันคุณภาพการศึกษาของนักศึกษาทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
10.7 กำกับและติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานคณะ และกิจกรรมที่ดำเนินการโดยนักศึกษาในการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อนำผลประเมินไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงในกระบวนการ กลไก และการดำเนินงานประกันคุณภาพของคณะอย่างต่อเนื่อง
10.8 ส่งเสริมและสนับสนุนคณาจารย์ บุคลากรทุกระดับให้มีจิตสำนึกในการประกันคุณภาพการศึกษา
10.9 เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาแก่สาธารณชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจในมาตรฐานคุณภาพการศึกษาของคณะ